สืบเนื่องจาก หมู่บ้านเขาช่องแคบ
ก่อตั้งขึ้นมานานหลายปี สมัยก่อนการเดินทาง ยังไม่สะดวกเท่านี้ ยังเป็นทางเกวียน ถนนหนทางก็ดินดำ
ถึงแม้ปัจจุบันจะทำถนนแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นถนนที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เวลาฝนตกหนัก ถนนก็จะใช้สัญจรลำบากมากในช่วงหน้าฝน....
บรรยากาศทั่วไป มีภูเขาล้อมรอบ อากาศสดชื่น วิวทิวทัศน์งดงาม
อาชีพ เกษตรกรรม ทำสวน รับจ้าง เลี้ยงสัตว์ วัว แพะ (ซึ่วการเลี้ยงแพะ เป็นการสร้างรายได้ที่ดีให้กับแต่ละครอบครัวเลยทีเดียว
เราไปดูบรรยากาศของหมู่บ้าน และบ้านเรือนต่าง ๆ กันค่ะ
และไปติดตามเกษตรกรตัวอย่างของหมู่บ้านแห่งนี้กัน
(บรรยากาศโดยรวม ที่ถ่ายมานิดหน่อย)
เกษตรกรตัวอย่าง (เหรียญทอง ภูหมื่น)
นวธร ประจักษ์
สวนผักหวานป่า พืชเศรษฐกิจสวนผสม
หนึ่งเดียวของเมืองละโว้
ผักหวานป่า นับได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ดี บางปีบางแห่งในช่วงแรกๆ ที่ผักหวานออกใหม่ๆ จะมีราคา 180-200 บาท ต่อกิโลกรัม ทำรายได้ให้ชาวบ้านที่มีอาชีพการหาของป่าขายได้ไม่น้อย
คุณลุงเหรียญทอง ภูหมื่น เกษตรกรตัวจริงของบ้านเขาช่องแคบ ตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ปราชญ์พื้นบ้านที่คนในชุมชนและหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานต่างให้การยอมรับในความคิดแบบบูรณาการแบบชาวบ้านของคุณลุงเหรียญทอง
"ครั้งแรกที่ลุงไปขุดต้นผักหวานมาปลูกในไร่ หลายคนกลับมองว่าลุงบ้า เพี้ยนไปแล้ว มันเป็นไปได้อย่างไรกัน ต้นผักหวานมันเป็นของป่า นำมาปลูกไว้ในบ้าน มันไม่มีทางขึ้น" บทสนทนาครั้งแรกที่คุณลุงเหรียญได้เล่าให้ฟังด้วยความเป็นกันเอง
"ผักหวานมันเป็นพืชที่อยู่บนเขาในป่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะต้องตื่นนอนแต่เช้า รีบออกไปหาเก็บ ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ลุงคิดว่าเราน่าจะลองนำผักหวานมาปลูกเอาไว้ในไร่จะดีกว่า พอถึงฤดูกาลหน้าผักหวานก็ไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาเหมือนกับคนอื่นๆ เขา ในปี 2540 ก็เลยชวนแม่จำเนียร ภรรยาคู่ยาก ชวนกันไปหาขุดต้นผักหวานบนเขานำมาปลูกทดลองดู ปรากฏว่าครั้งแรกขุดมาเกือบ 30 ต้น รอดเพียงไม่กี่ต้น เลยมานั่งคิดทบทวนหาวิธีการใหม่ ลองผิดลองถูกไปหลายวิธีอยู่หลายปี ด้วยความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อในความอันน่าจะเป็น" คุณลุงบอก
ปัจจุบัน คุณลุงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผักหวานโดยปริยาย จนกลายเป็นไร่ผักหวานที่สมบูรณ์แบบ กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จังหวัดลพบุรี ทำป้ายมาติดตั้งเอาไว้ให้ผู้คนทั่วไปได้เข้ามาชมและศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง
ปัจจุบัน มีต้นผักหวานหลายขนาดไม่ต่ำกว่า 2.000 ต้น ในเนื้อที่จำนวน 3 ไร่ ที่ปลูกแซมกับต้นมะขามเทศของสวนเหรียญทอง
ในแต่ละปีก็ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับคุณลุงเหรียญทองไม่น้อย หลายคนที่กล่าวหาว่าแกบ้า สุดท้าย ก็ต้องมาเรียนรู้จากคุณลุงเหรียญทอง
ผักหวาน มีวิธีการเพาะปลูกขยายพันธุ์อยู่ 4 วิธี
หนึ่ง ขุดทั้งต้นมาปลูกเลย วิธีการนี้ขั้นตอนยุ่งยาก ส่วนใหญ่ต้นผักหวานก็มักจะไม่รอด เนื่องจากต้นผักหวานจะอ่อนไหวในเรื่องรากถูกกระทบกระเทือน ประเด็นสำคัญ จะเป็นการทำลายป่า ทำลายต้นผักหวานโดยไม่รู้ตัว คุณลุงเหรียญแกไม่สนับสนุน
สอง การตอนกิ่ง ให้เลือกกิ่งที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป ขั้นตอนต่างๆ ก็เหมือนการตอนพืชทั่วๆ ไป คือใช้กาบมะพร้าวเป็นตัวหลัก ห้ามใช้ดินพอก หัวใจสำคัญคืออย่าให้กาบมะพร้าวแห้ง หากพบว่ารากเริ่มงอกก็ตัดลงดินได้เลย อย่าปล่อยรากงอกจนเขียว เพราะต้นผักหวานจะปลูกไม่ขึ้น
สาม ใช้เมล็ด ต้องใช้เมล็ดที่ห่ามๆ เมล็ดสุกใช้ไม่ได้ นำมาตากแดดประมาณชั่วโมง จึงนำเปลือกด้านนอกออก และกะเทาะเอาแต่เมล็ดอ่อนข้างใน ขุดหลุมขนาดกว้างยาว 2 คืบ นำเมล็ดลงปลูกได้เลย รดน้ำพอชุ่ม อย่าให้เปียกชื้นเกินไป จากนั้นก็อดใจรอ ประมาณ 1-2 เดือน เมล็ดถึงจะงอก พองอกมาแล้ว เราต้องทำที่บังแดด เพื่อให้ต้นผักหวานได้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่
สี่ ขยายต้นทางราก คือต้นผักหวานที่เราปลูกเอาไว้ในสวน ให้ขุดหารากที่มันเลื้อยขนานไปกับพื้นดิน จากนั้นก็ตัดรากให้ขาดจากต้นแม่ ปล่อยทิ้งเอาไว้ตามธรรมชาติ จากนั้นไม่นานรากบริเวณที่ตัดเอาไว้ ก็จะได้ต้นผักหวานต้นใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็จะขึ้นอยู่รอบๆ ต้นผักหวานต้นเดิม ที่เราตัดรากนั่นเอง ที่สำคัญต้องใช้ต้นผักหวานที่โตเต็มที่แล้วมาตัดราก
ผักหวานป่า เป็นพืชที่ไม่ชอบแสงแดดมากนัก การปลูกควรจะปลูกแซมใกล้ไม้ใหญ่ ที่จะให้ต้นผักหวานได้หลบบังแสงแดดได้บ้าง หากปลูกในที่โล่งๆ ต้นผักหวานก็จะแคระแกร็น ใบก็ออกรีๆ เล็กๆ และจะเป็นสีเหลืองไม่สวยงาม ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ที่สำคัญรสชาติก็ไม่อร่อย
ปัจจุบัน ตลาดผักหวานป่า ยังเป็นที่ต้องการอยู่มาก เนื่องจากหายาก มีจำนวนน้อย ในเรื่องความอร่อยและราคาก็คนละเรื่องกับผักหวานบ้าน ที่สำคัญราคาก็ไม่เคยตก ยกเว้นช่วงท้ายฤดูการเก็บเกี่ยวเดือนเมษายน จะตกประมาณกิโลกรัมละ 100-120 เป็นอย่างต่ำ
ผักหวานป่า จึงเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ขั้นตอนการปลูกและการดูแลรักษาก็ไม่ยุ่งยาก ประเด็นสำคัญแมลงศัตรูพืชก็ไม่ค่อยจะรบกวน เหมือนพืชชนิดอื่นๆ ยาฆ่าแมลง สารเคมีอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องหวังพึ่งสารเคมี ที่มีอันตรายรอบด้าน
รักษ์โลก รักธรรมชาติ โดยการหันมาปลูกผักหวานป่ากันดีกว่า ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคก็จะปลอดภัยกับสารเคมีตกค้าง อันเป็นสาเหตุของโรคภัยนานาประการ คุณลุงเหรียญทอง กล่าวทิ้งท้าย
(ปัจจุบันนี้ต้นผักหวานเจริญเติบโต และคุณลุงยังปลูกต้นไม้ เพื่อใช้บังแสงแดดให้กับต้นผักหวานอีกด้วย ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็โต กิ่งก้านใบก็สามารถให้ร่มเงาแก่ต้นผักหวานได้ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น